สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา : คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา



ปรัชญาภาระหน้าที่และการจัดองค์กร


ปรัชญาภาระหน้าที่และการจัดองค์กร

ปรัชญา

          คณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นสถาบันที่ปรึกษากฎหมายของ รัฐ เป็นสถาบันทางวิชาการ และเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งของการปกครองประเทศโดยกฎหมาย (rule of law) ซึ่ง เป็นหลักการสำคัญที่ต้องยึดถือของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติ งานเพื่อให้เป็นหลักประกันว่าการใช้อำนาจทางปกครองจะเป็นไปตามกฎหมายซึ่ง รัฐสภาได้ตราขึ้นตามความประสงค์ของประชาชนในสังคม และเพื่อให้เป็นหลักประกันว่าอำนาจทางปกครองจะไม่ตกเป็นของบุคคลใดบุคคล หนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ

          คณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามิใช่ที่ปรึกษาของรัฐบาลใด รัฐบาลหนึ่งเท่านั้น และมิได้ปฏิบัติงานตามทิศทางที่รัฐบาลประสงค์เพียงประการเดียว แต่ปฏิบัติงานเพื่อให้การใช้อำนาจทางปกครองเป็นไปตามกฎหมายและเพื่อประโยชน์ ของประชาชนส่วนรวม

          ในการจัดทำกฎหมายและให้ความเห็นทางกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาคำนึงถึงความถูกต้องตามหลัก นิติศาสตร์และความสอดคล้องกับศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมุ่งหมายให้ฝ่ายปกครองสามารถนำไปปัญหาที่แท้จริงของสังคมได้

 

ภาระหน้าที่

             มาตรา ๖๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้                                                                                

             (๑) รับผิดชอบในงานธุรการของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมายและศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย

             (๒) พิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย และเสนอความเห็นเกี่ยวกับการให้มีหรือแก้ไข ปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย

             (๓) ช่วยเหลือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการร่างกฎหมายแก่หน่วยงานของรัฐ

             (๔) ให้ความเห็นหรือปฏิบัติงานอื่นอันเกี่ยวกับกฎหมายให้แก่หน่วยงานของรัฐ หรือตามที่รัฐบาลต่างประเทศหรือสถาบันระหว่างประเทศร้องขอ 

             (๕) ฝึกอบรมและพัฒนาข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและเจ้าหน้าที่ของรัฐในด้านกฎหมายและการร่างกฎหมาย รวมทั้งการเผยแพร่ ทำความเข้าใจในด้านกฎหมายแก่บุคคลทั่วไป

             (๖) ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาหลักกฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดิน

             (๗) จัดพิมพ์ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเผยแพร่ เว้นแต่เรื่องที่เป็นความลับ

             (๘) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของคณะ กรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมายเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

             (๙) ศึกษา และรวบรวมข้อมูล รวมทั้งจัดให้ได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับระบบกฎหมายไทยและระบบกฎหมายต่าง ประเทศ และงานวิจัยกฎหมายหรือวิชาอื่นที่เกี่ยวกับกฎหมายทั้งของไทยและต่างประเทศ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนา กฎหมายตามพระราชบัญญัตินี้

              นอกจากนั้น ข้อ ๒ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๕๖ ยังกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีภารกิจเกี่ยวกับการจัดทำกฎหมาย การใช้กฎหมายและการพัฒนากฎหมายให้ถูกต้อง สร้างความเป็นธรรมและส่งเสริมการพัฒนาประเทศและประโยชน์สุขของประชาชน ตลอดจนพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย รวมทั้งกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย 

               (๑) พิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย และพิจารณาเสนอความเห็นให้มีการแก้ไข ปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย รวมทั้งช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐในการจัดทำร่างกฎหมาย

               (๒) ให้ความเห็นทางกฎหมายแก่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐ

               (๓) งานประสานการนิติบัญญัติ โดยการตรวจสอบดูแลงานกฎหมายของประเทศและแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการเสนอกฎหมาย รวมทั้งการช่วยเหลืองานด้านกฎหมายในชั้นรัฐสภา

               (๔) จัด ทำคำแปลกฎหมาย ให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการกู้เงินและให้คำปรึกษาหรือปฏิบัติงานอื่น อันเกี่ยวกับกฎหมายให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือตามที่รัฐบาลต่างประเทศหรือ สถาบันระหว่างประเทศร้องขอ

               (๕) วิจัยและพัฒนากฎหมาย โดยตรวจสอบสภาพปัญหาของประเทศและสังคม แล้วทำการศึกษาวิจัยเพื่อเสนอร่างกฎหมายใหม่หรือแก้ไขกฎหมายเดิม

               (๖) พัฒนาหลักกฎหมายปกครองเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติราชการ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิบัติราชการ รวมทั้งรับผิดชอบกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วย ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

               (๗) ทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง โดยการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้วให้บริการค้นคว้าแก่รัฐบาล รัฐสภา หน่วยงานของรัฐและประชาชน

               (๘) ดำเนินการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ เพื่อให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน

               (๙) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะ กรรมการกฤษฎีกาหรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

 

การจัดองค์กร

               กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๕๖ กำหนดส่วนราชการภายในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดังนี้

 


Comments